Loading...

กำลังโหลดหน้าเว็บไซต์
รอสักครู่น้า Loading...

แจ้งความออนไลน์ โดนหลอกโอนเงิน 2567 ต้องทำยังไง เช็คเลย!

แจ้งความออนไลน์ โดนหลอกโอนเงิน 2567 ต้องทำยังไง เช็คเลย!

18 มิถุนายน 2567

5 นาที

ปี 2567 ข่าวคนโดนหลอกโอนเงิน โดนโกงออนไลน์ ยังมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เพราะทุกวันนี้มิจฉาชีพอยู่รอบตัวจนระแวงเบอร์แปลก ๆ ทุกสายที่โทร. เข้ามาทุกที หรือคนที่โดนหลอกโอนเงินแล้วยังกังวลว่าจะได้เงินคืนไหม ถ้าแจ้งความออนไลน์ หลังโดนหลอกโอนเงินต้องทำยังไง มีวิธีสังเกตหรือวิธีเช็ครายชื่อมิจฉาชีพยังไง หรือบัญชีม้าคืออะไร ซิมม้าเป็นแบบไหน แล้วหลังจากถูกมิจฉาชีพหลอก จะมีวิธีแจ้งอายัดบัญชีปลายทางยังไง วันนี้แอดได้รวบรวมวิธีรับมือกับมิจฉาชีพ พร้อมวิธีแจ้งความหลังโดนหลอกโอนเงิน หรือวิธีสังเกตมิจฉาชีพว่าแบบไหนควรระวัง มาให้เตรียมตัวกัน


1. โดนหลอกโอนเงิน ทํายังไง

2. โดนหลอกโอนเงิน จะได้เงินคืนไหม

3. วิธีเช็ครายชื่อ มิจฉาชีพ 2567 ออนไลน์

4. บัญชีม้า คืออะไร?

5. รวมกลโกงที่มิจฉาชีพหลอก

6. รวมเบอร์ธนาคารสำหรับโทร. แจ้งอายัดบัญชีม้า


โดนหลอกโอนเงิน ทํายังไง

1. โดนหลอกโอนเงิน ทํายังไง


เดี๋ยวนี้ใช้ชีวิตทุกย่างก้าวต้องคอยระแวงมิจฉาชีพ ทั้งซื้อของออนไลน์จะโดนโกงไหม รับโทรศัพท์เบอร์แปลก ๆ จะโดนดูดเงินแบบในข่าวหรือเปล่า หรือกดลิงก์ที่ส่งมาทาง sms เงินจะเกลี้ยงบัญชีไหม สารพัดหัวจะปวดกับกลโกงของมิจฉาชีพที่เราต้องระวัง เพราะโดนหลอกโอนเงินทีก็แทบจะหมดตัว แล้วหากโดนหลอกโอนเงินต้องทำยังไง มาดูขั้นตอนกัน


รวบรวมหลักฐาน


หลังจากรู้แล้วว่าเราโดนหลอกโอนเงิน อย่างแรกเลยต้องตั้งสติอย่างพึ่งลน หลังจากนั้น ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อนำไปแจ้งความ อย่างเช่น ถ้าโดนหลอกเงินซื้อของออนไลน์ ต้องแคปหน้าจอหรือบันทึกหลักฐานและปรินต์ออกมาก่อน ซึ่งข้อมูลที่ต้องเก็บมีดังนี้


  • บันทึกภาพหน้าเว็บไซต์/รูปโปรไฟล์ของร้านค้า ที่เราสั่งสินค้า
  • เก็บข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีของร้านค้า
  • บันทึกบทสนทนาในแชทที่พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า
  • เก็บหลักฐานการโอนเงิน


วิธีแจ้งความโดนหลอกให้โอนเงิน


หลังจากเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดแล้ว ให้นำหลักฐานมาแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งสามารถแจ้งความได้ 2 วิธี คือ


1. แจ้งความที่เกิดเหตุโอนเงิน


วิธีแรกเราสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนของเรา และหลักฐานที่รวบรวมไว้ มาแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ที่เราโอนเงินไป พร้อมทั้งให้ปากคำถึงรายละเอียดพฤติการณ์ในคดี แต่เนื่องจากเป็นคดีที่มีอายุความ 3 เดือน จึงควรรีบแจ้งความภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้ตัวว่าถูกหลอกให้โอนเงิน และต้องระบุว่า “ต้องการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” 


2. แจ้งความออนไลน์


ส่วนวิธีแจ้งความออนไลน์ เมื่อถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน ก็สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือติดต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ที่เบอร์โทรด่วน 1441 (ตลอด 24 ชั่วโมง) ซึ่งจะมีการให้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประจำตัวประชาชน อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม และช่องทางติดต่ออื่น ๆ รวมทั้งหลักฐานการโอนเงิน จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่รับแจ้งความออนไลน์แล้ว จะส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งความสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความและเริ่มสืบสวน โดยพนักงานสอบสวนจะโทร. นัดหมายเพื่อสอบปากคำ และดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป


ติดต่อธนาคารเพื่อทำการอายัดบัญชี


หลังจากแจ้งความเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ นำเลขบัญชีของเราที่ถูกโกง ใบแจ้งความ และหลักฐานการโอนเงินยื่นที่ธนาคารปลายทางของบัญชีผู้ที่โกงเรา เพื่อขอเงินคืนหรืออายัดบัญชี ซึ่งสามารถติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดบัญชีปลายทางเพื่อไม่ให้มิจฉาชีพสามารถใช้เงินในบัญชีได้


โดนหลอกโอนเงิน จะได้เงินคืนไหม

2. โดนหลอกโอนเงิน จะได้เงินคืนไหม


แน่นอนว่าคนที่โดนหลอกโอนเงินคงกังวลว่าจะได้เงินคืนไหม ซึ่งหลังจากโดนหลอกโอนเงินจากมิจฉาชีพ และแจ้งความทำเรื่องอายัดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ถัดมาก็จะเป็นในส่วนของธนาคารที่จะทำการตรวจสอบ ว่าบัญชีที่เราแจ้งอายัด มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม การฟอกเงิน หรือการหลอกโอนเงินหรือไม่ หลังจากนั้นจะทำการระงับการทำธุรกรรมชั่วคราวทันที โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน


ทำให้ระหว่างนั้นเจ้าของบัญชีที่เราแจ้งอายัด จะไม่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้ แต่ยังสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้อยู่ ส่วนจะได้รับเงินคืนหรือไม่นั้น ต้องดูว่ายอดเงินที่โอนไปแล้วถูกถอนไปใช้งานหรือยัง เพราะเมื่อเราถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว มิจฉาชีพอาจรีบเบิกถอนเงินออกมา หรือโอนเงินต่อไปที่บัญชีม้าอีกหลาย ๆ ทอด ทำให้ยากต่อการระงับบัญชีปลายทาง จึงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า จะได้เงินคืนไหม หรือจะได้รับเงินภายในกี่วัน


3. วิธีเช็ครายชื่อ มิจฉาชีพ 2567 ออนไลน์


เดี๋ยวนี้การสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งสะดวกสบาย ส่งของรวดเร็วทันใจ แถมยังจ่ายเงินง่าย หรือจะเก็บเงินปลายทางก็ยังได้ แต่ข้อดีก็มักมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพมาหลอกได้ เช่น สั่งของแล้วไม่ได้ของ หรือของไม่ตรงปก มีพัสดุเก็บเงินปลายทางทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ หัวจะปวดกับสารพัดวิธีที่มิจฉาชีพหาทางโกง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบรายชื่อ และเช็คบัญชีมิจฉาชีพให้ดี ก่อนตัดสินใจโอนเงินทุกครั้ง โดยมีวิธีดังนี้


1. ตรวจสอบรายชื่อผ่าน Google

นำชื่อคนขาย หรือชื่อของเจ้าของบัญชีไปค้นหาบน Google หากเคยโกง หรือมีประวัติ ก็จะมีรายละเอียดเตือนภัยว่า บัญชีนี้เคยมีประวัติอย่างไรบ้าง


2. ตรวจสอบรายชื่อผ่าน Social Media

นอกจากตรวจสอบรายชื่อมิจฉาชีพผ่าน Google แล้วยังสามารถเช็คผ่าน Social Media ได้อีกด้วย เพราะตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ คนที่เคยโดนโกง มักจะมาแชร์ข่าวสารเพื่อเตือนภัยไว้อยู่เสมอ


3. เช็คผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller

เพิ่มความสะดวกสบายไปอีกขั้น เพราะเดี๋ยวนี้ สามารถเช็คเลขบัญชีของมิจฉาชีพได้ โดยผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller ซึ่งจะมีการระบุข้อมูลของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ทั้งชื่อบัญชี รายชื่อ ตั้งแต่ขั้นตอนซื้อขายจนไปถึงขั้นตอนโอนเงิน 


4. เช็คผ่านเว็บไซต์ ฉลาดโอน

หากอยากตรวจสอบว่าเป็นคนที่เราซื้อขายด้วยเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ก็สามารถเช็คผ่านเว็บไซต์ ฉลาดโอน
ได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบข้อมูล ชื่อบัญชีเลขบัญชี เบอร์โทร sms ของผู้รับโอน ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ที่สำคัญ ยังสามารถแจ้งข้อมูลคนโกงได้อีกด้วย 


5. เช็คผ่านเว็บไซต์ เช็คก่อน

อีกเว็บไซต์ที่สามารถตรวจเช็ครายชื่อมิจฉาชีพได้คือ เว็บไซต์ช่องทางใหม่ เช็คก่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบเบอร์โทร เลขบัญชี พร้อมเพย์ เพื่อเช็คว่า บัญชีที่เราโอนเงินไปเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ โดยเราต้องกรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร เบอร์พร้อมเพย์ หมายเลขโทรศัพท์ หรือ URL เว็บไซต์ ที่ต้องการจะตรวจสอบก่อนโอน และสามารถแจ้งเบาะแสคนโกงได้ 


6. เช็คคนโกงจากเบอร์โทรศัพท์

อีกวิธีฮอตฮิต ที่สามารถสแกนมิจฉาชีพได้ดีจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเบอร์โทรศัพท์ โดยยังคงโทรมาหลอกลวงพร้อมมุกใหม่ ๆ ด้วยแอปพลิเคชัน ที่ทุกเครื่องขาดไม่ได้คือ

  • Whoscall – ตรวจสอบเบอร์โทรและ SMS แจ้งเตือนมิจฉาชีพ
  • Truecaller – ตรวจสอบแหล่งที่มาของคนโทร โดยเฉพาะจากต่างประเทศ


4. บัญชีม้า คืออะไร?


สำหรับ “บัญชีม้า” ที่หลายคนมักได้ยิน เวลามีข่าวคนโดนมิจฉาชีพหลอก แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ลองมาดูกันว่าบัญชีม้าอันตรายอย่างไร เราจะโดนสวมรอยหรือไม่ แล้วถ้าเราตกเป็นบัญชีม้าโดยไม่รู้จะทำยังไง


บัญชีม้า คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกรรมการเงิน เช่น การโอนเงิน หรือการรับเงิน ที่ได้มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้กระทำผิดได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้การเปิดบัญชีม้า ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดอย่างแพร่หลาย ทั้ง การฉ้อโกง การพนัน ยาเสพติด และที่พบเห็นมากที่สุดคือ การหลอกให้กู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ รวมถึงช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ และที่ฮอตฮิตที่สุดคือผ่านแก๊งคอลเซนเตอร์ที่โทรศัพท์มาหลอกลวง ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และทำการโอนเงินไปยังบัญชีม้าของมิจฉาชีพ


และในส่วนของความผิด หากรับเปิดบัญชีม้า หรืออาจหลงตกเป็นเหยื่อ เป็นเจ้าของบัญชีม้าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น จะมีทั้งโทษหนัก ทั้งปรับและจำคุก โดยจากพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า “เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


รวมกลโกงมิจฉาชีพ

5. รวมกลโกงที่มิจฉาชีพหลอก


เดี๋ยวนี้กลโกงจากเหล่ามิจฉาชีพมีหลากหลายวิธี หลายช่องทางมาก แต่ละวันปรับเปลี่ยนวิธีกันจนคนทั่วไปตามแทบไม่ทัน วันนี้แอดได้นำกลโกงที่มิจฉาชีพหลอก ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สรุป 5 กลโกง ที่เรามักจะพบเจอในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) มาให้ดูกัน ดังนี้


1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด / เป็นหนี้บัตรเครดิต

“บัญชีของคุณถูกอายัด กรุณาโทรกลับ” ประโยคสุดฮิต ที่เหล่ามิจฉาชีพมักใช้เป็นข้ออ้างในการหลวกลวง
เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจ ชักจูง และเร่งรัดให้โอนเงินง่าย


2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือฟอกเงิน

มิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลและทราบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีจำนวนมาก จึงหลอกขอให้ทำการโอนทั้งหมดให้ธนาคารตรวจสอบ


3. เงินคืนภาษี

ข้ออ้างนี้มักถูกใช้ช่วงยื่นภาษีและขอเงินคืน โดยการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งว่าเหยื่อได้รับเงินคืน และหลอกให้ยืนยันที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วหลอกให้โอน


4. โชคดีรับรางวัลใหญ่ / หลอกขอข้อมูลส่วนตัว

กลโกงนี้มักจะมาคู่กัน โดยหลอกให้โอนเงินค่าภาษีให้ และหลอกขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในการทุจริตต่าง ๆ


5. โอนเงินผิด

หลอกว่าโอนเงินผิด ขอให้โอนเงินคืน เมื่อตรวจสอบพบว่ามียอดเข้ามาจริง แต่เป็นยอดที่มิจฉาชีพหลอกมาจากเหยื่ออีกคน เพื่อพักเงิน ก่อนจะให้เราโอนคืนไปอีกบัญชี


6. รวมเบอร์ธนาคารสำหรับโทร. แจ้งอายัดบัญชีม้า


หากวันนึงเราหลงกลมิจฉาชีพแล้ว ต้องการโทร. อายัดบัญชีที่เราโอนไป ก็สามารถโทร. ไปตามเบอร์ของธนาคารต่าง ๆ ตามนี้ได้เลย


  • ธนาคารกสิกรไทย : 0-2888-8888 กด 1
  • ธนาคารกรุงไทย : 0-2111-1111 กด 108
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา : 1572 กด 5
  • ธนาคารกรุงเทพ : 1333 หรือ 0-2645-5555 กด * 3
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ : 0-2777-7575
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต : 1428 กด 03
  • ธนาคารออมสิน : 1115 กด 6
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย : 0-2626-7777 กด 00
  • ธนาคารไทยเครดิต : 0-2697-5454
  • ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ : 0-2459-0000 กด 8
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ : 0-2645-9000 กด 33
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร : 0-2555-0555 กด *3
  • ธนาคารยูโอบี : 0-2344-9555
  • ธนาคารซิตี้แบงค์ : 0-2344-9555
  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร : 0-2165-5555 กด 6
  • ธนาคารทิสโก้ : 0-2633-6000 กด * 7


วิธีแจ้งความออนไลน์ โดนหลอกโอนเงิน2567 ต้องทำยังไงเช็คเลย Info


ขึ้นชื่อว่ามิจฉาชีพ ที่มีสารพัดวิธีในการหลอกลวง สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ คือต้องรู้เท่าทัน หาวิธีป้องกันเพื่อความปลอดภัยต่อทรัพย์สิน อย่างที่แอดนำวิธีมาแนะนำกัน สำคัญที่สุดคือหากมีสายแปลก ๆ หรือ sms แปลกๆ เราต้องเช็คให้ชัวร์ก่อน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ


ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 07/05/67

🔖สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

🔖สมาคมธนาคารไทย

🔖Fillgoods 

🔖tidlor

🔖ไทยรัฐ

สนใจแบบประกัน

ข้าพเจ้าตกลงยินยอมให้ บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต เก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลข้างต้นของข้าพเจ้าเพื่อติดต่อข้าพเจ้าในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ ข้าพเจ้าสนใจหรือที่บริษัทฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ ข้าพเจ้าได้โดยข้าพเจ้าให้ถือเอาการทำเครื่องหมาย ในช่องสี่เหลี่ยมเป็นการแสดงเจตนา ยินยอมของข้าพเจ้าแทน การลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ก่อนการแสดงเจตนาดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าได้อ่านและรับทราบเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวแล้ว

บทความน่าสนใจ